Rating: | ★★★★★ |
Category: | Other |
เทนนิสเอลโบ (Tennis Elbow)
ปัญหาที่ทุกคนที่สนใจกีฬาเทนนิสควรรู้
โดย: อ.ชัชวาลย์ จันทรวิจิตร
เทนนิสเอลโบ (Tennis elbow) หรืออาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านนอก เป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการเล่นกีฬาเทนนิส คาดว่าประมาณครึ่งหนึ่งของคนที่เล่นกีฬานี้เคยมีอาการเทนนิสเอลโบ อาการนี้อาจทำให้ผู้ที่สนใจกีฬานี้ขาดความสุขในการเล่นเทนนิส หรือบางรายอาจต้องเลิกเล่นเทนนิสไปเลย ผู้เขียนเองก็เป็นคนหนึ่งที่เคยมีปัญหานี้ จึงได้ขวนขวายหาความรู้และนำมาทดลองใช้กับตัวเองจนได้ผล จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับเทนนิสเอลโบในประเทศไทยยังมีน้อย ข้อมูลที่มีประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นของต่างประเทศ เขียนและเผยแพร่โดยใช้ภาษาอังกฤษ จึงเป็นการยากที่คนไทยทั่วไปจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลเหล่านี้ได้ บทความนี้ผู้เขียนนำเสอนข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดเทนนิสเอลโบ การป้องกัน โดยการเลือกใช้ไม้เทนนิส และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆที่เหมาะสม ตลอดจนการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ที่มีอาการเทนนิสเอลโบแล้ว บทความนี้จะช่วยให้ความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาเทนนิสเอลโบและแนวทางป้องกันแก่ผู้ที่สนใจกีฬาเทนนิสทุกคน
เทนนิสเอลโบเกิดขึ้นได้อย่างไร? เทนนิสเอลโบ เป็นชื่อเรียกอาการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณข้อศอกด้านนอก มีชื่อทางการแพทย์ว่า Lateral epicondylitis ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บกล้ามเนื้อและเอ็น บริเวณข้อศอกด้านนอก (รูปที่ 1) บางครั้งอาการปวดอาจขยายไปถึงแขนและข้อมือด้วย อาการจะมีมากขึ้นขณะเคลื่อนไหวข้อมือหรือศอก และ การกำมือ เทนนิสเอลโบเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อแขนในบริเวณดังกล่าวมากเกินไป ซึ่งมีหลายกิจกรรมที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ การหิ้วของที่หนัก การหิ้วของเป็นเวลานาน หรือกิจกรรมที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อแขน เช่น การตอก หรือการทุบด้วยฆ้อน การใช้มีดฟันฟืนหรือวัสดุที่แข็ง และการเล่นกีฬาเบสบอล เป็นต้น แต่ที่พบได้บ่อยคือการเล่นเทนนิสจึงได้ชื่อว่า เทนนิสเอลโบ
รูปที่ 1 เอ็นและกล้ามเนื้อแขนด้านนอก
วิธีแก้ปัญหาเทนนิสเอลโบ 1.ปรับปรุงเทคนิคการตีเทนนิสที่ถูกต้อง: สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเทนนิสเอลโบคือการตีเทนนิสที่ไม่ถูกวิธี ดังนั้นทางแก้ที่ดีที่สุดคือ การปรับปรุงเทคนิคการตีเทนนิสให้ถูกต้อง เทคนิคการตีเทนนิสที่เป็นปัญหาคือการตีโดยใช้แรงจากกล้ามเนื้อแขนส่วนปลายมากเกินไป เช่น การตีแบคแฮนด์สไลด์ หรือการตีวอลเลย์ในท่าทางที่แขนงอ การตีโฟแฮนด์ด้วยการท่าทางงอแขน การพยายามสร้างพลังในการตีด้วยการเหยียดข้อมือไปข้างหลังให้มากๆ การตีท็อบสปรินด้วยการตวัดข้อมือ หรือการเสิร์ฟลูกให้แรงด้วยการตวัดข้อมือ โดยทั่วไปการตีแบคแฮนด์จะทำให้เกิดปัญหาเอลโบได้มากกว่าโฟแฮนด์ วิธีการตีเทนนิสที่ถูกต้องคือ ต้องตีในลักษณะที่แขนเหยียดตึง และข้อศอกล็อคอยู่กับที่ ใช้แรงจากหัวไหล่ซึ่งมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงกว่าที่แขน สร้างแรงในการตีด้วยการก้าวเข้าหาลูกบอล และตีลูกหน้าตัว ตีท็อบสปรินด้วยการตีจากล่างขึ้นบนแทนการตวัดข้อมือ เป็นต้น สำหรับรายละเอียดเทคนิคการเล่นเทนนิสที่ถูกวิธีอยู่นอกเหนือขอบเขตของบทความนี้ ผู้ที่สนใจกีฬาเทนนิสสามารถศึกษาเทคนิคการเล่นที่ถูกต้องจากหนังสือ ซีดี และ ผู้ฝึกสอนที่มีประสบการณ์และผ่านการอบรมการเป็นผู้สอนเทนนิส ไม่ควรหัดเล่นในลักษณะลองผิดลองถูกด้วยตนเอง เพราะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้
2. ใช้ไม้และอุปกรณ์เทนนิสที่เหมาะสม: การเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมมีส่วนสำคัญไม่น้อยต่อการป้องกันการเกิดเทนนิสเอลโบ อุปกรณ์กีฬาเทนนิสที่สำคัญ คือ ไม้เทนนิส เอ็น และ ลูกเทนนิส
ไม้เทนนิส ในปัจจุบันมีไม้เทนนิสมากมายหลายรุ่นหลายยีห้อให้เลือกใช้ โดยมีความแตกต่างที่ชัดเจนอยู่ที่ น้ำหนักไม้ และขนาดหน้าไม้ นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างในรายละเอียดอีกหลายด้าน เช่น ความแข็งกระด้างของไม้ (stiffness) บาลานซ์ของไม้ (balance) ซึ่งแบ่งไม้เทนนิสออกเป็นสองประเภทคือไม้เทนนิสที่มีหัวไม้หนักและหัวไม้เบา จำนวนเส้นเอนในแนวแกนตั้งและแกนนอน (string pattern) เป็นต้น จากการศึกษาของ Wilmot McCutchen พบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจมีผลต่อความนุ่มนวล (comfortable)ของไม้เทนนิส ซึ่งบ่งบอกถึงโอกาสในการทำให้เกิดปัญหาเทนนิสเอลโบ และจากการคำนวณค่าความนุ่มนวลของไม้โดยใช้คุณสมบัติทางฟิสิกส์ของไม้ที่สามารถวัดและคำนวณออกมาเป็นตัวเลข เขาพบว่า ไม้ที่เสี่ยงต่อการเกิดเทนนิสเอลโบ คือไม้ที่มีน้ำหนักเบา และหัวไม้หนัก ไม้เทนนิสที่อาจช่วยป้องกันเทนนิสเอลโบ คือ ไม้เทนนิสที่มีหัวไม้เบา และมีความแข็งกระด้างต่ำ ผู้ที่สนใจสามารถหารข้อมูลความนุ่มนวลของไม้แต่ละรุ่น และรายละเอียดหลักการและวิธีคำนวณค่าความนุ่มนวลดังกล่าวได้จากเวปไซต์ของ RACQUET RESEARCH - Home Page:
http://www.racquetresearch.com หรือถ้าต้องการเฉพาะข้อมูลค่าความนุ่มนวลสามารถดูได้จากเวปไซต์ Greg’s racquet service:
http://www.hdtennis.com/grs/racquetresearch.html ความแข็งกระด้าง (Stiffness) ของไม้เทนนิส หรือความอ่อนตัวของไม้เวลากระทบลูก ไม้ที่มีความแข็งกระด้างสูงจะส่งผ่านพลังงานจากแรงสั่นสะเทือนมาถึงแขนมากกว่า จึงอาจทำให้เกิดเทนนิสเอลโบ ไม้เทนนิสที่ดีต่อแขนควรเป็นไม้ที่มีค่าความกระด้างต่ำ ไม้เทนนิสในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีความกระด้างมากขึ้นเพราะต้องการให้ได้พาวเวอร์มากขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีเทคโนโลยีเพื่อช่วยช่วยลดแรงสั่นสะเทือนและป้องกันการบาดเจ็บของแขน ซึ่งอาจทำได้โดยการใช้เทคโนโลยีลดแรงสั่นเทือนที่ตัวกรอบไม้ และการใช้เทคโนโลยีป้องกันการส่งผ่านพลังงานจากด้ามไม้ไปยังแขนผู้เล่น
ขนาดและน้ำหนักของไม้เทนนิส โดยทั่วไปแล้ว ไม้เทนนิสที่มีน้ำหนักมากจะมีแรงปะทะที่ดี ทำให้สั่นสะเทือนขณะกระทบลูกบอลน้อยกว่าไม้ที่มีน้ำหนักเบา จึงช่วยลดปัญหาเทนนิสเอลโบได้ ในการเลือกไม้เทนนิสจึงควรเลือกไม้ที่มีน้ำหนักมากที่สุดเท่าที่จะตีได้ถนัด ส่วนขนาดของหน้าไม้จะมีผลต่อพื้นที่ที่ลูกเทนนิสจะกระทบ ไม้หน้าใหญ่จะมีพื้นที่กระทบลูกบอลมาก จึงช่วยลดโอกาสตีโดนขอบไม้ลง และไม้หน้าใหญ่จะมีผลต่อความยืดหยุ่นของเอ็นด้วย ถ้าขึ้นที่ความตึงเท่ากัน เอ็นที่อยู่ในไม้หน้าใหญ่จะมีความหยืดหยุ่นมากกว่า
ขนาดกริป หรือขนาดของด้ามไม้เทนนิส เป็นปัจจัยที่คนทั่วไปมักมองข้าม ขนาดของกริป จะมีผลต่อความมั่นคงในการถือไม้เทนนิส ถ้าด้ามจับมีขนาดเล็กเกินไปจะทำให้ผู้เล่นต้องใช้แรงบีบมากขึ้น หรือจับไม้ไม่แน่น จึงอาจทำให้ปัญหาได้มากกว่า ดังนั้นจึงควรเลือกกริปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะถือได้สะดวก
เอ็น (String) เอ็นสำหรับขึงไม้เทนนิสเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเกิดแรงสั่นสะเทือนและเทนนิสเอลโบ เอ็นที่ดีควรมีความยืดหยุ่นสูง มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อความยืดหยุ่นของเอ็น ที่สำคัญ คือ วัสดุที่ใช้ผลิตเอ็น วัสดุที่ใช้ผลิตเอ็นจะมีผลต่อคุณสมบัติในหลายด้านของเอ็น ทั้งความยืดหยุ่น ความแข็งแรงทนทาน การคงตัวของความตึง การให้พลังในการตี และราคา เป็นต้น เอ็นที่การใช้แพร่หลายในปัจจุบันอาจแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม คือ Natural Gut, Synthetic Gut, Multifilament, Poly และ Kevlar
เอ็น Natural gut ซึ่งทำมาจากไส้ของสัตว์จะมีความยืดหยุ่นสูง ให้ความรู้สึกนุ่มในการตีแม้ขึ้นด้วยความตึงสูง มีการคงตัวสูง และให้พลังในการตีดี ข้อจำกัดที่สำคัญของเอ็นประเภทนี้ คือ มีราคาแพง และมีความทนทานต่ำ เอ็น synthetic gut ทำมาจากวัสดุสังเคราะห์ประเภทไนลอน (nylon) มีความยืดหยุ่นน้อยกว่าเอ็นประเภทแรก แต่มีความทนทานสูงกว่า จุดเด่นของเอ็นประเภทนี้อยู่ที่มีราคาถูกที่สุดในบรรดาเอ็นเทนนิสที่มีขายในปัจจุบัน เอ็น multifilament หรือนิยมเรียกสั้นว่า multi เป็นเอ็นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเอ็น natural gut มากที่สุด มีความยืดหยุ่นดีกว่าเอ็นประเภท synthetic gut เนื่องจาก มีส่วนประกอบของไนลอนเส้นเล็กหลายๆเส้นรวมกัน และยังคงความแข็งแรงทนทาน แต่มักมีราคาสูงกว่าเอ็น synthetic gut เอ็น polyester หรือนิยมเรียกสั้นว่า poly เป็นเอ็นที่เน้นความแข็งแรงทนทาน ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เหมาะกับการตีในระดับมืออาชีพ หรือคนที่ตีเอ็นขาดบ่อย คนที่ชอบตีในลักษณะท็อปสปริน แต่เอ็นจะมีความกระด้างสูง สูญเสียความตึงได้ง่าย เอ็นประเภทสุดท้าย คือ เอ็น Kevlar เป็นเอ็นที่มีความกระด้างมากที่สุด หรือมีความยืดหยุ่นน้อยที่สุด มีความคงตัวสำหรับความตึงต่ำสุด เหมาะสำหรับการใช้งานที่เน้นความทนทาน ขนาดของเส้นเอ็น หรือความหนา (Gauge) ของเอ็นก็มีผลต่อความยืดหยุ่นของเอ็น โดยทั่วไปแล้วเอ็นเส้นเล็กจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าเอ็นเส้นใหญ่ แต่จะขาดง่ายกว่า และสูญเสียความตึงได้รวดเร็วกว่า
ความตึงของการขึ้นเอ็น เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความยืดหยุ่นของเอ็น โดยทั่วไปแล้วเอ็นที่ขึ้นด้วยความตึงมากจะมีความยืดหยุ่นน้อย ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของเอ็นด้วย สำหรับคนที่มีปัญหาเทนนิสเอลโบควรเลือกใช้ความตึงที่ต่ำไว้ก่อน นอกจากนี้การใช้เอ็นที่หมดสภาพก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเทนนิสเอลโบได้ เพราะเอ็นที่เก่าหมดสภาพจะสูญเสียความยืดหยุ่น โดยทั่วไปแล้วควรเปลี่ยนเอ็นหลังจากการใช้งาน 40 ชั่วโมง หรือดูจากสถิติการใช้งานต่อสัปดาห์ โดยมีหลักคิดง่ายๆคือให้เปลี่ยนเอ็นในแต่ละปีบ่อยเท่ากับจำนวนครั้งที่เล่นต่อสัปดาห์ เช่น ถ้าเล่นเทนนิสสามครั้งต่อสัปดาห์ก็ควรเปลี่ยนเอ็นสามครั้งต่อปี
สำหรับผู้ที่มีปัญหาเทนนิสเอลโบ ควรเลือกเอ็นที่มีความยืดหยุ่นสูง จากข้อมูลการทดสอบความยืดหยุ่นของเอ็นที่เผยแพร่โดย Racquet sports industry magazine พบว่าเอ็นที่มีความยืดหยุ่นสูงที่สุดคือเอ็นในกลุ่ม Natural gut รองลงมาเป็นเอ็นกลุ่ม multifilament synthetic gut poly และ Kevlar ตามลำดับ รายละเอียดข้อมูลความยืดหยุ่นของเอ็นแต่ละรุ่นแต่ละประเภทสามารถหาได้จากเวปไซต์
http://www.racquetsportsindustry.com/issues/200809/200809allstrings.html และเวปไซต์
https://www.tennismenace.com/tenniselbow.htm ลูกเทนนิส น้ำหนักของลูกเทนนิสจะมีผลต่อแรงประทะที่กระทำต่อไม้ และพลังงานที่จะมาถึงแขนที่เป็นสาเหตุของเทนนิสเอลโบ ลูกเทนนิสแต่ละรุ่นและยี่ห้ออาจสร้างแรงปะทะได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ผลิต โดยทั่วไปลูกบอลที่หนักมากจะทำให้เกิดแรงปะทะและส่งพลังงานมาถึงแขนได้มากกว่าบอลที่มีน้ำหนักเบา ดังนั้นจึงควรเลือกใช้ลูกบอลที่มีน้ำหนักเบา นอกจากนี้ไม่ควรใช้บอลที่หมดสภาพเพราะจะไม่มีความยืดหยุ่น
3. การรักษาอาการเทนนิสเอลโบ ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่สามารถรักษาอาการเทนนิสเอลโบได้ การรักษาอาการเทนนิสเอลโบควรใช้หลายวิธีร่วมกัน ทั้งการประคบหรือการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด การนวดเพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดมาเลี้ยงเอ็นและกล้ามเนื้อ และการบริหารเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ในกรณีที่จำเป็นต้องเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการเทนนิสเอลโบควรสวมที่รัดแขนป้องกันเทนนิสเอลโบเพื่อช่วยพยุงกล้ามเนื้อและลดแรงสั่นสะเทือนบริเวณข้อศอก
3. 1 การนวดและการบริหารร่างกาย การนวด: การนวดเป็นทั้งวิธีป้องกันและรักษาอาการเทนนิสเอลโบ ผู้ที่สนใจสามารถทำได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องไปพึ่งนักกายภาพหรือผู้เชียวชาญแต่อย่างใด การนวดอย่างง่ายๆที่เรียกว่า Cross fiber friction massage จะช่วยกระตุ้นให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อและเอ็นที่ได้รับความเสียหาย ทำให้กระบวนการรักษาตัวเองของร่างกายทำงานได้ดียิ่งขึ้น วิธีการประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ (ผู้ที่สนใจสามารถดูวิดีโอสาธิตการนวดดังกล่าวได้จากเวปไซต์
http://www.youtube.com/watch?v=hclFBUiRtbk&feature=player_embedded#!)
ขั้นตอนที่ 1 ห้ามใช้น้ำมันหรือโลชั่นทาก่อนการนวด ขั้นตอนที่ 2 เริ่มจากแขนด้านนอกที่บริเวณห่างจากข้อศอกประมาณสามนิ้ว ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางนวดไปแนวขวางของแขน ขยับไปทั่วบริเวณที่เจ็บ เริ่มจากกล้ามเนื้อชั้นนอก และขยับไปถึงกล้ามเนื้อชั้นในมากขึ้น ขั้นตอนที่ 3 ใช้แรงกดในระดับ 6 ถ้าให้ระดับสูงสุดที่จะทนได้เท่ากับระดับ 10 และเพิ่มความแรงมากขึ้นเมื่ออาการเจ็บทุเลาลง ขั้นตอนที่ 4 ทำซ้ำประมาณ 10-20 นาที ขั้นตอนที่ 5 ทำสม่ำเสมอทุกวัน การบริหารและยืดกล้ามเนื้อ การบริหารและยืดกล้ามเนื้อจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อแขนและป้องกันอาการเทนนิสเอลโบ กล้ามเนื้อที่ควรบริหารคือกล้ามเนื้อบริเวณแขนส่วนปลายตั้งแต่ข้อศอกลงไปจนถึงข้อมือ กล้ามเนื้อส่วนนี้จะมีทั้งกล้ามเนื้อชั้นในและกล้ามเนื้อชั้นนอก ควรบริหารให้ครบทั้งสองด้าน รูปข้างล่างแสดงท่าการบริหารกล้ามเนื้อดังกล่าว ควรบริหารให้ครบทุกท่า ทำท่าละ 6-10 ครั้ง
ที่มา:
http://www.physicalagency.com/main/index.php/2009-08-01-11-05-26/80--tennis-elbow 3.2 การใช้ยา ยาที่นิยมใช้มีทั้งประเภทยาทาและยากิน ยาที่ใช้เป็นยากลุ่มลดการอักเสบของกล้ามเนื้อ อาจเสริมด้วยยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาแก้ปวด ในกรณีที่กินยา ไม่ควรกินยาต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะยาจะมีผลข้างเคียง และทำให้เกิดกรดในกระเพาะ จึงไม่ควรกินยาในขณะท้องว่าง
การฉีดยา ในกรณีที่จำเป็น หรือการรักษาด้วยวิธีอื่นๆแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือคนป่วยมีอาการปวดมาก แพทย์อาจใช้การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าตรงบริเวณข้อศอกตำแหน่งที่เจ็บ ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากอาการจะดีขึ้น ข้อเสียคือ ยาที่ใช้เป็นสารสเตียรอยด์ซึ่งจะผลข้างเคียง และไม่สามารถใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานได้ โดยทั่วไปไม่ควรฉีดยาเกิน 3 ครั้ง
การผ่าตัด วิธีนี้มักเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษา แพทย์จะพิจารณาใช้การผ่าตัดในกรณีที่ใช้การรักษาด้วยวิธีอื่นๆมาแล้วเป็นเวลานานแต่คนป่วยอาการไม่ดีขึ้น
บรรณานุกรม Greg’s racquet service:
http://www.hdtennis.com/grs/racquetresearch.html http://www.physicalagency.com/main/index.php/2009-08-01-11-05-26/80--tennis-elbow http://www.racquetsportsindustry.com/issues/200809/200809allstrings.html http://www.tennis-warehouse.com/LC/SelectingRacquet.html https://www.tennismenace.com/tenniselbow.htm Nelson L J. Correct Tennis Elbow with Stroke Changes.
http://www.dynamicchiropractic.ca/mpacms/dc/article.php?t=26&id=43629 RACQUET RESEARCH - Home Page:
http://www.racquetresearch.com/ Salt Lake City Stringer. String 101.
http://www.slcstringer.com/aboutstrings.html Strings tennis.
http://en.wikipedia.org/wiki/Strings_%28tennis%29#Natural_Gut เผยแพร่ที่:
http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=thaitennis&topic=13075&page=1