Pages

Saturday, February 9, 2013

Mini Review: Volkl Organix 10 Mid



ลองตีมา 3 ครั้งแล้วครับ X10mid มี swingweight ที่สูงกว่า PB10mid แรงปะทะดี ตีกราวด์สโตรกได้ดีมากพอๆกับไม้ midplus (จริงๆแล้วผมไม่รู้สึกว่ามันเป็นไม้หน้าเล็กเลย) แถมลื่นไหลกว่าด้วย plow-thru สูงตีบอลแล้วเหมือนแรงต้านน้อยลงกว่าตัว PB10mid จุดเด่นเรื่องความคล่องตัวยังมีอยู่ถึงแม้ว่าหัวไม้จะหนักขึ้น หัวไม้เร็วใช้ได้แต่ไม่เท่า PB10mid รูปร่างไม้แบบนี้เฟรมบางแบบนี้ผมว่ายังอัพน้ำหนักได้อีกเยอะโดยที่ความคล่องตัวยังอยู่เหมือนเดิม ก้านไม้แข็งกว่า PB10mid นิดหน่อยเพราะเฟรมหนากว่า PB10mid 0.5mm และรูปร่างเฟรมอ้วนกลมขึ้นเล็กน้อย แต่พอเอามาตีแล้วประกอบกับ balance ที่เพิ่มมาทางหัวทำให้รู้สึกว่าไม้ยังอ่อนอยู่ ทีแรกก็คิดว่า power จะน้อยแต่ปรากฎว่าส่งลูกไปถึงท้ายคอร์ทได้ในวงซวิงที่สั้นกว่าทั้งโฟร์แฮนด์และแบ็คแฮนด์มือเดียว Feel ไม้นุ่มนวลสไตล์ Volkl แต่ความดิบคมลดลงจาก PB10mid ตอนตีวอลเล่ย์ feel ของ PB10mid ดีกว่าแต่ X10mid ลูกพุ่งลึกกว่าและหน้าไม้นิ่งกว่า

สิ่งที่ผมคิดว่า Volkl พยายามปรับปรุงไม้ตัวนี้คือเรื่องของ power เป็นหลัก ในขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นเลือกการเพิ่ม stiffness หรือความแข็งของไม้เพื่อเพิ่ม power แต่ Volkl เลือกที่จะคง stiffness ให้อยู่ที่ 59RA เท่าเดิมแต่เปลี่ยนบาลานซ์ให้มาที่หัวไม้เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่ม swingweight และ power ซึ่งผมคิดว่า Volkl มาถูกทางแล้ว ตอนตีบอลหลุด sweet spot ยังให้ power ดีอยู่ซึ่งไม้รุ่นใหม่ๆที่หัวเบาอย่าง Wilson PS90BLX หรือ Head IG Prestige Mid ทำแบบนี้ไม่ได้

ข้อเสียอย่างเดียวคือกริปที่แบนและเล็กกว่าเดิมประมาณ 1 เบอร์ ไม้สไตล์นี้มันต้องกริปแบบ Wilson โดยรวมๆไม้นี้ยังคงเป็นไม้ All-Court ที่มีความคล่องตัวสูงและมี power ที่สูงขึ้นสามารถขยับมาตีแนว baseline แบบ

สิ่งที่ผมอยากจะปรับเพิ่มเติมเกี่ยวกับไม้ตัวนี้คือ 1) ปรับรูปร่างกริปให้คล้าย Wilson Pro Staff 2) เปลี่ยนเอ็นเป็น Solinco Tour Bite 19 หรือ 20 เพื่อเพิ่มสปินให้กับวงซวิงสั้นๆ

Sunday, February 3, 2013

First Hit: Head Graphene Speed Pro



หลายๆคนอาจจะกำลังสนใจไม้ใหม่ของ Novak อยู่แล้วก็รอรีวิวภาษาไทยของไม้ Head Graphene Speed Pro ใน Tennis Warehouse เองมีวีดีโอรีวิวเป็นภาษาอังกฤษแล้วผลออกมาเป็นไม้ที่ดีมาก ในกระทู้ Talk Tennis ก็เริ่มมีคนเข้ามาพูดถึงไม้ตัวนี้เยอะขึ้น http://tt.tennis-warehouse.com/showthread.php?t=452331 แต่เท่าที่อ่านมายังหาข้อสรุปอะไรไม่ได้ เจ้าของกระทู้เองก็บอกว่าไม้ตัวนี้มีดีหลายอย่างแต่สุดท้ายก็ขายทิ้่งเพราะไม้รุ่นเก่าเข้ามือกว่า คนที่ซื้อไปเอาไปตีก็บอกว่าไม้ดีแต่ยังมีปัญหาอยู่สองสามอย่าง ดูท่าทางเค้าก็พยายามจะชอบให้ได้

ทีนี้มาถึงผมบ้าง สั้นๆเลย "ไม้นี้ดราม่าเยอะ" ได้มาวันแรกผมขึ้นเอ็น Solinco Tour Bite 17 ที่ 48 ปอนด์ (เพราะเอ็นมันถี่เหลือเกิน) แล้วพัน Tournagrip 2 ชั้น (เพราะ FBT ไม่เอากริป 4-3/8 เข้ามา) แล้วเอาไปลองตี 10 นาทีแรกด้วยวงซวิงแบบแฟลตๆลากไม้สั้นๆ ผลคือ ...หงุดหงิดครับ! power เดี๋ยวน้อย เดี๋ยวเยอะ หา sweet spot ไม่เจอ คอไม้อ่อนช่วงกลางๆซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่หัวไม้ไม่ค่อยแข็งทั้งๆที่ควรจะแข็งโดยเฉพาะไม้หน้าใหญ่ เวลาตีบอลเลยเหมือนหน้าไม้สบัดโยกเยกไปมา ไม่นิ่งเลย ในเวลาเดียวกันผมก็ลองไม้ Dunlop F3.0 Tour ที่ขึ้นเอ็น spec เดียวกันด้วย ไม้ F3.0 Tour ตีง่ายกว่าแน่นกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่พอผมเอาไปให้เพื่อนอีกคนซึ่งมีวงซวิงยาวกว่ามาตีบอกว่าไม้ Speed Pro ตัวนี้ตีดี ชอบเลย ผมเลยต้องมาปรับวงตัวเองดูอีกทีโดยที่เปิดหน้าไม้ตีมากขึ้น ลากยาวขึ้น มันก็ตีดีขึ้นจริงๆ บอลไปแรงขึ้นลึกขึ้น แต่จะให้ตีลากยาวๆแบบนี้ตลอดไม่ไหวแน่ๆ

ผมเดาว่าไม้ตัวนี้มีปัญหาที่หัวไม้ที่อ่อนเกินไป เท่าที่ลองตีดูในวันแรกหัวไม้บริเวณ 10-2 นาฬิกาน่าจะมีน้ำหนักดีอยู่แล้ว เลยขอลองถ่วงไม้เพิ่ม 9g ที่บริเวณ 3 ยาวไปถึง 6 และ 9 นาฬิกาเพิ่มความนิ่งของหัวไม้ช่วงล่างแล้วก็เปลี่ยนเอ็นเป็นไฮบริดระหว่าง Polyfibre Black Venom กับ Volkl Classic Synthetic Gut ที่ 48 กับ 52 ปอนด์ ผลคือไม้นิ่งมาก แต่ power ยังแกว่งๆอยู่ แล้วหัวไม้ก็หนักเกินที่จะซวิงไหว สุดท้ายก็ตัดเอ็นทิ้งแล้วก็รื้อตะกั่วออกหมดเลย

มาถึงตอนนี้ผมคิดว่าหัวไม้ Speed Pro คงจะมีปัญหาจริงๆ หัวไม้อ่อนๆถ้าขึ้นเอ็นหย่อนๆแล้วจะหาความนิ่งกับ sweet spot ได้ยากกว่าไม้หัวแข็ง ผมเลยต้องงัดสูตรไม้ตายออกมาใช้คือ "โพลีเส้นใหญ่ขึ้นตึง" ผมขึ้น Solinco Barb Wire 16 ที่ 54 ปอนด์ ถ้าไม้ 18x20 ปกติผมไม่ขึ้นเอ็น poly เกิน 48-50 ปอนด์เพราะเอ็นจะยืดเร็ว แต่ตอนนี้ไม่มีทางเลือก ผลปรากฎว่าแก้ปัญหาได้เกือบหมด ตอนนี้หน้าไม้มี sweet spot ที่ชัดเจนแล้ว ตีบอลได้นิ่งและแน่นมากโดยที่ไม่ต้องถ่วงเลย แต่เมื่อเย็นผมลองถ่วงเพิ่มที่ 3 และ 9 นาฬิกาอีก 6g แล้วยิงบอลได้หนักหน่วงกว่าตอนไม่ถ่วงเยอะพอสมควรในขณะที่ยังซวิงไหว น้ำหนักไม้รวมเอ็นอยู่ประมาณ 350g

สรุป: ไม้ G-Speed Pro เป็นไม้ที่ไม่เหมือนกับไม้ Head ตัวอื่นๆที่ผ่านมาเพราะการกระจายน้ำหนักหัว-ท้าย (polarization) ทำให้ไม้มีจุดอ่อนในช่วงล่างของหน้าไม้ ถ้าใครคิดจะซื้อ G-Speed Pro มาใช้ผมแนะนำให้ไปยืมไม้เพื่อนมาลองตีก่อน หรือถ้าจะซื้อเลยก็เลือกใช้เอ็นเส้นใหญ่แล้วขึ้นตึงเกิน 54 ปอนด์ไปเลยครับ

Mini Review: Babolat Aero Pro Drive 2013

เมื่อวันศุกร์เพิ่งได้ลอง Babolat AeroPro Drive 2013 เป็นครั้งแรก พอดีกับช่วงที่ Solinco ส่งเอ็นใหม่มาให้ทดสอบคือ Solinco Outlast 16 Neon Green ทั้งเอ็นและไม้สีเข้ากันมาก ดูเด่นมาแต่ใกล ผมได้ลองไม้ตัวนี้แค่ประมาณ 30 นาทีเพราะใช้เวลาส่วนใหญ่ทดลองไม้ Head Graphene Speed Pro ไปซะเยอะ ไม้ตัวนี้เป็นไม้ที่ตีง่ายมาก มากจนไม่ค่อยท้าทายเท่าไหร่ feel ก็ยังโปร่งๆตามสไตล์ Babolat เสียงตีบอลเมื่อเทียบกับไม้ Speed Pro หรือ F3.0 Tour บอกได้ชัดเจนว่าข้างในกลวง แต่ความกลวงไม่มากเหมือน Babolat Pure Drive 2012



ตามสเปค Babolat AeroPro Drive 2013 หัวหนักกว่าและก้านแข็งกว่าเดิมนิดหน่อย (ไม้ใหม่ๆในปี 2013 ก็ปรับบาลานซ์มาทางหัวไม้มากขึ้นแล้วก็ก้านแข็งขึ้นด้วย) ผมไม่ค่อยรู้สึกเท่าไหร่เพราะไม่มีไม้ตัวเก่ามาเทียบ แต่โดยรวมๆ APD 2013 ก็ยังเป็นไม้ที่เบา คล่องตัว และแข็งมาก ซึ่งก็ทำให้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีของไม้แข็งคือทำให้การคุมทิศทางบอล groundstroke ได้ง่าย สั่งเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาได้ง๊ายง่าย คนที่เคยตีไม้คอนโทรลมาก่อนจะรู้สึกได้เลยว่าไม่ต้องพยายามเหมือนไม้คอนโทรลตัวอื่น อรรถรสในการตีอาจจะลดลงไปเยอะ ส่วนข้อเสียของไม้แข็งตีนานแล้วอาจเจ็บแขนเพราะพลังงานจากแรงสะท้านส่งผ่านมาที่ศอกและไหล่ได้มากกว่า

Power ของไม้ APD 2013 ให้มาอย่างล้นๆ ตีผ่อนๆก็ไปถึงหลังได้อย่างง่ายดาย หน้าไม้ไม่มีอาการพลิกแต่อย่างใด ถ้าขึ้นเอ็นขอให้ขึ้นตึงไปเลยครับ เลือกเอ็นเส้นโตๆขึ้น 55 ปอนด์จะดีมาก เอ็นที่ผมลองอยู่เป็นโพลีที่ทำงานได้ดีที่ความตึงสูงเลยเข้ากับไม้ตัวนี้ได้ดี ไม่มีอาการแข็งกระด้าง หรือยืดย้วยแต่อย่างใด

นอกจากเรื่องความง่ายในการตีแล้ว จุดเด่นอีกอย่างของไม้ APD 2013 คือความสามารถในการปั่นบอลตีท๊อปสปิน ผมไม่ใช่คนที่ตีท๊อปสปินเป็นหลักแต่ก็สามารถสังเกตุได้ว่ารอบการหมุนของบอลที่เกิดจาก APD 2013 มีมากกว่าไม้ตัวอื่นๆที่ผมกำลังทดสอบในเวลาเดียวกันเช่น Head G-Speed Pro, Dunlop F3.0 Tour, Yonex VCore Tour 97 อย่างชัดเจน เป็นไปได้เพราะว่า string pattern ที่เปิดกว้างกว่า (16x19) เลยกัดบอลได้ดีกว่า แต่ผมว่ามีปัจจัยอื่นๆในไม้ตัวนี้มาช่วยในเรื่องในการตีท๊อปสปินแน่นอน เรื่องท๊อปสปินยังจะเป็นจุดขายของไม้ APD 2013 ได้อีกนานครับ ก็ไม่แปลกที่ไม้ Aero Pro Drive ตั้งแต่รุ่นแรกถึงรุ่นปัจจุบันดูเหมือนไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย